fbpx

Blockchain คือเทคโนโลยีที่จะเปลี่ยนโลก และพลิกโฉมธุรกิจ

“Blockchain คือเทคโนโลยีที่จะเปลี่ยนโลก และพลิกโฉมธุรกิจ” คำนิยามนี้ไม่ใช่คำนิยามที่เกินเลยไปจากความเป็นจริง ด้วยขณะนี้องค์กรต่าง ๆ ทั่วโลกทั้งภาครัฐและเอกชนในเกือบทุกภาคส่วนได้นำ และกำลังจะนำเทคโนโลยีนี้มาใช้ประโยชน์ เพื่อยกระดับศักยภาพขององค์กร

ผลสำรวจ Global Blockchain Survey 2018 ที่จัดทำโดย PwC ได้สอบถามความคิดเห็นของผู้บริหารจำนวน 600 คนจาก 15 ประเทศ เกี่ยวกับการเข้ามาของเทคโนโลยีนี้ พบว่า 84% ของผู้บริหารทั่วโลกได้มีการนำเทคโนโลยีบล็อกเชนมาประยุกต์ใช้กับธุรกิจของตน บริษัทวิจัยและวิเคราะห์ข้อมูลด้านเทคโนโลยีสารสนเทศชั้นนำของโลกอย่าง การ์ทเนอร์ (Gartner) ก็คาดการณ์ว่า บล็อกเชนจะสามารถสร้างมูลค่าทางธุรกิจได้มากกว่า 300 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ภายในปี 2573 ปัจจุบันอุตสาหกรรมบริการทางการเงิน เป็นผู้นำตลาดในการใช้บล็อกเชน รองลงมาคือ อุตสาหกรรมการผลิต อุตสาหกรรมพลังงานและสาธารณูปโภค นอกจากนี้ธุรกิจค้าปลีก หรือแม้กระทั่งธุรกิจสื่อและบันเทิงอย่างวงการเพลง ยังได้นำบล็อกเชนมาช่วยแก้ปัญหาการดาวน์โหลดเพลง และคัดลอกเพลง รวมทั้งทำให้ผู้บริโภคสามารถจ่ายเงินให้กับศิลปินโดยตรงโดยไม่ต้องผ่านตัวกลางอีกด้วย

รายงานล่าสุดของ International Data Corporation (IDC) ได้คาดการณ์ถึงการใช้โซลูชั่นบล็อกเชนว่า จะมีมูลค่าถึง 15.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2566   โดยในปี 2562 นี้คาดว่าจะมีมูลค่า 2.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐซึ่งเพิ่มขึ้นจากปีก่อนกว่า 80%

กรณีตัวอย่างของการนำเทคโนโลยีบล็อกเชนไปใช้ทั่วโลก อาทิ

  • ประเทศเอสโตเนีย และ เมือง Zug ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ ใช้ Blockchain ในการจัดการข้อมูลบัตรประชาชนและการเข้าถึงสิทธิพลเมืองทั้งระบบ
  • ญี่ปุ่น และสิงคโปร์ นำ Blockchain มาใช้ในระบบราชการ เช่น การจัดซื้อจัดจ้าง การกำหนดราคากลาง เพื่อสร้างความปลอดภัยในการแลกเปลี่ยนข้อมูลภาครัฐ และสร้างความโปร่งใส สามารถตรวจสอบได้ทุกขั้นตอน
  • เกาหลีใต้ กำลังลงทุนเพื่อใช้ Blockchain ในการจัดการเลือกตั้ง
  • สหรัฐอเมริกาฯ ได้นำเอา “บล็อกเชน” โดย MedRec ไปใช้ในการจัดเก็บข้อมูลผลตรวจเลือด ประวัติการได้รับวัคซีน และการจ่ายยา รวมถึงประวัติการบำบัดรักษาของผู้ป่วย ทำให้เก็บข้อมูลที่แม่นยำ และถูกต้องมากขึ้น
  • อังกฤษ ได้พัฒนาโครงการ Blockchain-Based Cybersecurity Services for Critical British เพื่อใช้ในการป้องกันระบบโครงสร้างพื้นฐานสำคัญของประเทศเพื่อประโยชน์ด้านความมั่นคง และกรมตำรวจอังกฤษได้นำระบบ Blockchain มาใช้ ตั้งแต่รับแจ้งความ สอบสวน ไปจนถึงชั้นศาล เพื่อเพิ่มความปลอดภัยของข้อมูล และลดการใช้กระดาษ
  • สาธารณรัฐประชาชนจีน Blockchain Food Safety Traceabilityโดย Tsinghua University  ร่วมกับ IBM และ Walmart และ จับมือกันพัฒนาเทคโนโลยีการจัดการ Supply Chain ของการขนส่งอาหารภายใน Walmart Food Safety Collaboration Center ในกรุงปักกิ่งด้วยเทคโนโลยี Blockchain เพื่อติดตามและปรับปรุงวิธีการขนส่งและขายอาหารให้มีความปลอดภัยมากยิ่งขึ้น
  • อินเดียนำเทคโนโลยีบล็อกเชนมาใช้ในการขอจดทะเบียนที่ดิน และโอนกรรมสิทธิ์ ซึ่งช่วยลดงานด้านเอกสาร และเพิ่มประสิทธิภาพในงานธุรกรรม
  • สหภาพยุโรปนำเทคโนโลยีบล็อกเชนมาใช้ในการตรวจสอบระบบภาษี เพื่อทำ Tax Refund สำหรับการค้าขายระหว่างประเทศในกลุ่มสมาชิกสหภาพยุโรป
  • Bank of Communications ธนาคารแห่งรัฐของจีน ใช้ Blockchain ในการออกสินเชื่อดิจิทัลมูลค่า 1.3 พันล้านดอลลาร์ในเดือนกันยายน 2018 ในขณะที่ธนาคารที่ใหญ่เป็นอันดับสี่ของโลก The Agricultural Bank of China ออกเงินกู้มูลค่าประมาณ $ 300,000 สำหรับที่ดินเพื่อเกษตรกรรมบนเครือข่าย  blockchain
  • Air New Zealand ร่วมกับ Winding Tree สตาร์ทอัพจากสวิตเซอร์แลนด์ เพื่อหาหนทางการใช้เทคโนโลยีบล็อกเชนในการปรับปรุงประสิทธิภาพและความปลอดภัยของบริการในสายการบินโดยมุ่งพัฒนาบริการ เช่นการบรรทุกสินค้าและการติดตามกระเป๋า, การขายตั๋วเครื่องบินแบบค้าปลีก, ช่องทางการจัดจำหน่าย และ loyalty program
  • ดูไบ นำเทคโนโลยีบล็อกเชนมาใช้ในการออกใบ Certificate ให้กับเพชร ในนาม Kimberley Certificates
  • ในรัสเซีย Raiffeisen Bank International ได้ออกการจำนองแบบดิจิทัลทั้งหมดผ่านแพลตฟอร์ม blockchain ชื่อว่า Masterchain เพื่อช่วยให้มั่นใจว่าจะเกิดการสื่อสารที่รวดเร็วและปลอดภัยระหว่างธนาคารกับสถาบันการเงินอื่น และช่วยให้ผู้ใช้ยืนยันความถูกต้องของข้อมูลของตัวเองได้อย่างรวดเร็ว
  • อินโดนีเซีย นำ Blockchain มาใช้ในอุตสาหกรรมประมง เพื่อความโปร่งใส เป้าหมายคือต้องการให้ผู้บริโภคสามารถรับรู้ได้ว่าปลาที่กำลังรับประทานอยู่ ถูกจับที่ไหน โดยใคร และเมื่อไหร่
  • เมือง Freemantle ประเทศออสเตรเลีย นำบล็อกเชนมาใช้ในการจัดการโครงสร้างพื้นฐานของการผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์และน้ำร้อนแบบอัจฉริยะ เพื่อตอบสนองความต้องการและสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา
  • Grid Singularity บริษัทจาก Vienna พัฒนาแพลตฟอร์ม Decenralized energy data exchange เพื่อการวิเคราะห์ข้อมูลด้านพลังงาน, การ Trade, Smart Grid Management และการลงทุนในธุรกิจพลังงาน
  • UNHCR ใช้ Blockchain ในการบันทึกข้อมูลของผู้อพยพ และใช้เป็นกลไกออกเงินตราดิจิทัลเพื่อให้ผู้อพยพสามารถใช้ซื้ออาหารและของใช้ที่จำเป็น

สำหรับประเทศไทย ภาคธุรกิจและหน่วยงานกำกับต่างตื่นตัวในการพัฒนาและประยุกต์ใช้ระบบบล็อกเชนมากขึ้น อาทิ

  • ธนาคารแห่งประเทศไทย และธนาคารพาณิชย์ทั้ง 22 แห่งในไทย เปิดตัว บริษัท บีซีไอ (ประเทศไทย) จำกัด เพื่อสร้างระบบ Blockchain สำหรับภาคธนาคารใช้งานร่วมกัน โดยบริการแรกคือหนังสือค้ำประกัน ที่ลดความยุ่งยากในกระบวนการรับส่งเอกสาร นอกจากนี้ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ริเริ่มสร้างสกุลเงินดิจิทัลสัญชาติไทย “อินทนนท์” ขึ้นมาเป็นโครงการนำร่อง
  • เอสซีจี ได้นำเทคโนโลยี Blockchain เข้ามาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในกระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง-วางบิล-ชำระเงิน หรือที่เรียกว่า “B2P” (Blockchain Solution for Procure-to-Pay) ระหว่างเอสซีจีและคู่ค้าธุรกิจ เพื่อแก้ปัญหากระบวนการจัดซื้อจัดจ้างของเดิมที่มีขั้นตอนต้องตรวจสอบมากมาย ทำให้สูญเสียเวลาการทำงานในแต่ละวันค่อนข้างมาก
  • บางจากฯ เดินหน้าโครงการนำร่องระบบการผลิตและซื้อขายไฟฟ้าจากโซลาร์รูฟท็อปด้วยวิธีประมูลผ่านเทคโนโลยี Blockchain ระหว่างผู้ใช้ไฟฟ้าภายในปั๊มบางจาก ศรีนครินทร์ โดยมีกำลังการผลิต 279 กิโลวัตต์ พร้อมติดตั้งแบตเตอรี่สำรองขนาด 1 เมกะวัตต์ ใหญ่สุดในประเทศไทยขณะนี้ ชี้ค่าไฟฟ้าถูกลงเฉลี่ย 3-4 บาทต่อหน่วย และเป็นการนำร่องให้เห็นทิศทางการซื้อขายไฟฟ้ารูปแบบใหม่ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต
  • ไปรษณีย์ไทยนำมาใช้ในการรักษาความปลอดภัยและความน่าเชื่อถือของระบบ ว่าจะมีเฉพาะบุคคลผู้ได้รับอนุญาตเท่านั้นที่สามารถเปิดหีบห่อสินค้าที่ส่งได้
  • บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) (ปตท.) และ บริษัท เซอร์ทิส จำกัด ร่วมพัฒนา “ระบบบริหารจัดการพลังงานอัจฉริยะด้วยดิจิทัล” พลิกโฉมการจัดการพลังงานรูปแบบใหม่ให้ศูนย์เอนเนอร์ยี่  คอมเพล็กซ์ หรือ เอนโก้ ด้วยเทคโนโลยีบล็อกเชน (Blockchain) ผสานปัญญาประดิษฐ์ หรือ เอไอ (Artificial Intelligence – AI) เพื่อบริหารจัดการการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ​ และส่งเสริมการใช้พลังงานทางเลือก  ตั้งเป้าให้เป็นต้นแบบเมืองอัจฉริยะ หรือ Smart city (สมาร์ทซิตี้) ของกลุ่ม ปตท.
  • ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ร่วมกับบริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. ศึกษาและพัฒนาระบบการโอนเงินระหว่างประเทศในรูปแบบ B2B โดยนำเทคโนโลยี Blockchain มาใช้ โดยได้มีการทำ Live Pilot สำหรับการโอนเงินต่างประเทศ ซึ่งพบว่าสามารถโอนเงินเข้าบัญชีปลายทางได้ในเวลาน้อยกว่า 1 นาที เมื่อเทียบกับวิธีการโอนเงินแบบเดิมที่ใช้เวลา 1 ถึง 2 วัน
  • PEA ENCOM บริษัทในเครือการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค จับมือ BCPG บริษัทในเครือบางจาก ตั้งบริษัท Thai Digtal Energy Development เพื่อพัฒนาธุรกิจใหม่ด้านพลังงาน โดยโครงการแรกของ Thai Digital Energy Development คือโครงการผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่พร้อมจับมือกับ Power Ledger เพื่อพัฒนาระบบ Blockchain เพื่อใช้ในระบบบบริหารพลังงานแบบกระจายศูนย์ (Decentralisation)

ตัวอย่างเหล่านี้คงทำให้พอจะมองภาพออกว่า บล็อกเชนจะเข้ามามีบทบาทในการดำเนินชีวิต และธุรกิจของเรามากมายอย่างไรในอนาคต  เป็นเรื่องเร่งด่วนอย่างยิ่งที่เราจะต้องทำความรู้จัก รู้จริง รู้ให้ลึก เกี่ยวกับเทคโนโลยีนี้และนำมาใช้ประโยชน์ในองค์กรอย่างเร่งด่วน

มาทำความรู้จักกับ Blockchain ได้ที่นี่   สมัครด่วนก่อนจะถูกทิ้งไว้เบื้องหลัง

อ้างอิง :

การใช้เทคโนโลยีบล็อกเชนสำหรับภาครัฐ V.1.1 , DGA, มกราคม 2562

https://www.komchadluek.net/news/lifestyle/372152

http://www.thaibma.or.th/EN/Investors/Individual/Blog/2018/01042018.aspx

http://www.valuewalk.com/2017/04/blockchain-for-real-estate/

https://techsauce.co/news/sansiri-bcpg-partnership-clean-energy-blockchain-platform

News

https://www.the101.world/blockchain-tech-for-justice/

แบงก์ชาติไทยจับมือธนาคารพาณิชย์เปิดตัวหนังสือค้ำประกันบน Blockchain รายแรกของโลก

https://www.techtalkthai.com/thailand-post-to-use-blockchain-and-srt-to-use-iot/

https://www.idc.com/getdoc.jsp?containerId=prUS45429719

https://www.pwc.com/th/en/pwc-thailand-blogs/blog-20180924.html